Relax Mind Clinic
คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมจิตเวช
ใบอนุญาตเลขที่ 10102004065
Opening Hours: Mon - Thur : 12.00 PM - 8.00 PM, Sat - Sun : 10.00 AM - 5.00 PM

“สู้ๆนะ” จริงหรือที่ถือเป็นคำต้องห้ามต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

หน้าแรก บทความ
“สู้ๆนะ” จริงหรือที่ถือเป็นคำต้องห้ามต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

Relax Mind Clinic

คำถามหนึ่งที่จิตแพทย์มักถูกถามจากคนใกล้ชิดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคือ จริงหรือเปล่าที่ห้ามพูดคำว่า “สู้ๆนะ” กับผู้ป่วยเพราะจะทำให้อาการแย่ลง ซึ่งจากมุมมองโดยส่วนตัวก็ต้องบอกว่า มีทั้งส่วนจริงและไม่จริง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในการใช้คำปลอบโยนไม่ได้อยู่ที่ตัวคำหรือประโยคที่จะใช้ แต่อยู่ที่จังหวะจะโคนในการใช้ต่างหาก

ผู้ที่กำลังมีเรื่องกลุ้มใจหรือมีอารมณ์เศร้านั้น สิ่งที่พวกเขา (หรือแม้แต่เราเวลาที่กำลังเครียด) ต้องการมากที่สุดก็คือคนรับฟัง ซึ่งการรับฟังนั้นดูคร่าวๆเหมือนจะง่าย แต่เอาเข้าจริงก็ต้องใช้ทักษะและความอดทนประมาณหนึ่ง ซึ่งสังคมมนุษย์เรามักจะฝึกให้คนเราพูดให้เก่ง พรีเซนต์ให้ดีตั้งแต่วัยเรียนจนวัยทำงาน เราจะเจอแต่คนที่สอนการพูดเต็มไปหมด แต่น้อยมากที่จะมีใครที่สอนการฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟังอย่างตั้งใจ พยายามเข้าใจและไม่ตัดสิน ในปัจจุบันเรามีแต่คนอยากพูด แต่ไม่ค่อยมีคนอยากฟัง ดังนั้น ทักษะที่คนทั่วไปมักขาดในแง่ของการสื่อสารก็คือการรับฟัง

ผู้ที่มีความไม่สบายใจในหลายครั้งพวกเขาก็รู้ว่าปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่นั้นแก้ได้ด้วยตนเองหรือไม่ ถ้าแก้ไขได้จะต้องแก้อย่างไร ถ้าแก้ไม่ได้จะต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น แหล่งอื่น หรือต้องทำใจยอมรับมันอย่างไร แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขามักอึดอัดคับข้องใจไม่ใช่ตัวปัญหา แต่คือการที่ต้องเผชิญกับเรื่องในใจคนเดียวอย่างโดดเดี่ยวบนโลกใบนี้ ซึ่งถ้าในวินาทีนั้น กำลังมีใครสักคนที่คอยรับฟัง ห่วงใยอยู่ใกล้ชิดจากความรู้สึกร้ายๆก็อาจจะกลายเป็นดีได้ การฆ่าตัวตายสำเร็จมักจะเกิดขึ้นได้ยากในขณะที่มีมนุษย์อีกคนกำลังจับมือคอยอยู่เคียงข้างกัน

คำว่า “สู้ๆนะ” หรืออีกหลายๆคำตามคอนเท้นต์ในโซเชี่ยลนั้นมักถูกใช้ในการบอกปัดเรื่องที่อีกคนกำลังเล่าให้จบลง ไม่ว่าจะเป็นการที่ไม่อยากฟังต่อเพราะกลัวเห็นอีกคนร้องไห้แล้วตนเองจะรู้สึกกระอักกระอ่วนจัดการสถานการณ์ไม่ได้ หรือไม่อยากฟังต่อเพราะเป็นเรื่องเดิมๆ เคยฟังหลายรอบแล้ว หรือไม่มีเวลาจะรับฟัง ไม่มีทักษะในการฟัง ไม่รู้จะปลอบอย่างไร แต่ไม่ว่าจะเป็นจากเหตุใดก็ตาม การใช้คำปลอบเหล่านี้ “เร็วเกินไป” และ “ไม่ถูกจังหวะ” ก็มักจะทำให้ผู้ที่กำลังมีความทุกข์และกำลังต้องการคนรับฟังนั้นแปลผลไปว่า คนใกล้ชิดไม่เข้าใจ ไม่พยายามแม้แต่จะทำความเข้าใจ ตนเองไม่มีค่าพอให้รับฟัง เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งผลรวมจากการแปลความทางลบก็จะส่งผลทำให้อารมณ์เศร้ามากขึ้นได้

แต่หากใช้ให้ถูกจังหวะ คำว่า “สู้ๆนะ” ก็สามารถเป็นประโยคปิดการสนทนาหรือประโยคปลอบโยนที่ดีได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น หลังจากสามีตั้งใจรับฟังเรื่องปัญหาในการทำงานของภรรยาที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจนภรรยารู้สึกสบายใจขึ้นระดับหนึ่งแล้ว สามีก็พูดตบท้ายว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมจะอยู่เคียงข้างคุณเสมอ สู้ๆนะครับ” หรือ หลังจากเพื่อนรับฟังเรื่องเพื่อนอีกคนอกหักจนร้องไห้จบแล้วก็ตบไหล่พร้อมกับบอกว่า “กูรู้ว่ามึงจะกลับมาได้ ถ้ามึงมีเรื่องไม่สบายใจอะไรก็เล่าให้กูฟังได้ตลอดเลยนะ สู้เว้ยเพื่อน”

จะเห็นว่าสิ่งสำคัญคือ การรู้จักรับฟัง และรู้จังหวะการใช้คำ ซึ่งเป็นทักษะที่เราไม่ค่อยได้เรียนรู้และฝึกฝนกันในโรงเรียนหรือแม้แต่ในชีวิตจริง และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งว่าเพราะอะไรผู้ป่วยหลายคนถึงรู้สึกดีขึ้นได้เมื่อมาพบจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด โดยที่จิตแพทย์และนักจิตบำบัดอาจไม่ได้ทำอะไรมาก เพียงแค่รับฟังอย่างตั้งใจ พยายามเข้าใจ รู้จังหวะสรุปความและสะท้อนความรู้สึกของผู้ที่กำลังมีความทุกข์ตรงหน้า

ผศ.นพ.ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร

© Relax Mind Clinic. All Rights Reserved.

Powered by KPK Computer